วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

33: พระพุทธรูป ปางประทานพร ( ยืน)

พระพุทธรูป ปางประทานพร ( ยืน)
ปางประทานพร เป็นชื่อเรียกของพระพุทธรูปลักษณะ ทำห้อยพระหัตถ์เบื้องขวา หันฝ่าพระหัตถ์ไปข้างหน้าเป็นเครื่องหมาย แต่ส่วนองค์พระพุทธรูปนั้นทำท่านั่งขัดสมาธิอย่างปางสมาธิ ยืน หรือเดิน

ประวัติความเป็นมาของปางประทานพร ( ยืน)
ปางประทานพรในท่ายืน เมื่อนางมหาอุบาสิกาวิสาขา บุตรีของธนัญชัยเศรษฐี ซึ่งเป็นหญิงที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเบญจกัลยาณี
ได้แก่ มีผมงาม เนื้องาม ฟันงาม ผิวงาม วัยงาม นางมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก และได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเป็นอริยะบุคคลตั้งแต่อายุ 7 ขวบ
ในช่วงฤดูฝนในพรรษาหนึ่ง นางวิสาขาได้ให้นางทาสีของนางมานิมนต์พระภิกษุ พอดีฝนตก พระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝนอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร
นางทาสีเข้าใจว่าเป็นนักบวชลัทธิชีเปลือย จึงกลับไปบอกนางวิสาขา

หลังจากถวายภัตตาหารและพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว นางวิสาขาจึงกราบทูลขอประทานพรจากพระพุทธองค์เพื่อถวายสิ่งของต่าง ๆ แก่ภิกษุ ภิกษุณี ได้แก่
1. ผ้าอาบน้ำฝน
2. อาหารสำหรับภิกษุอาคันตุกะ
3. อาหารสำหรับภิกษุผู้เตรียมจะไป
4. อาหารสำหรับภิกษุป่วยไข้
5. อาหารสำหรับภิกษุผู้พยาบาลภิกษุ
6. ยาสำหรับภิกษุผู้ป่วยไข้
7. ขอให้ได้ถวายข้าวยาคู
8. ผ้าอาบน้ำสำหรับภิกษุณี

พระพุทธองค์ทรงประทานพรทั้ง 8 ข้อแก่นางวิสาขา
ความเชื่อและคตินิยม ของปางประทานพร ( ยืน)
เป็นพระพุทธรูปประจำปีมะแม
.....................................................................................................................
พระพุทธปฏิมายืน พระหัตถ์ซ้ายประทานอภัย พระหัตถ์ขวาประทานพร ทรงเครื่อง
พระพุทธสุริโยทัยสิริกิติทีฆายุมงคล ปั้นโดย วิชัย สิทธิรัตน์ พ.ศ. ๒๕๓๔ (ค.ศ. 1991) สัมฤทธิ์
สูงจากพระบาทถึงพระเกตุ ๑.๖๓ เมตร พระเจดีย์ศรีสุริโยทัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พระพุทธปฏิมายืน พระหัตถ์ซ้ายประทานอภัย พระหัตถ์ขวาประทานพร ทรงเครื่อง สมัยรัตนโกสินทร์
พระพุทธปฏิมายืน พระหัตถ์ซ้ายประทานอภัย พระหัตถ์ขวาประทานพรทรงเครื่อง สร้างขึ้นเพียงองค์เดียวในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ (ค.ศ. 1992)

พระพุทธรูปองค์นี้ สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นผู้ประทานแบบ
โดยดัดแปลงจากพระพุทธรูปทรงเครื่อง สมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่ง ทรงอุณหิส กุณฑล กรองศอ ห้อยทับทรวง ทรงพาหุรัด ทองพระกร
ทองพระบาท ขอบบน และหน้านาง ของสบงประดับลายรักร้อยกลีบบัว ยืนอยู่บนฐานบัวแวงทรงกลมรองรับด้วยฐานสิงห์และฐานเขียง ย่อมุมไม้สิบสอง
นอกจากจะสร้างพระพุทธปฏิมาองค์ใหญ่ ขนาดเท่าพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และนำไปประดิษฐานในพระเจดีย์พระศรีสุริโยทัยแล้ว (รูปที่ ๓.๙๓)
ยังสร้างพระพุทธปฏิมาเนื้อโลหะ ปิดทอง และรมดำ อีกอย่างละ ๓,๙๙๙ องค์ และเหรียญรูปไข่ เนื้อโลหะต่าง ๆ กัน อีก ๒๑๐,๓๙๖ องค์ (กองบัญชาการทหารสูงสุด ๒๕๓๔, ๗๔)
เพื่อให้ประชาชนผู้สนใจ เช่าไปสักการบูชา โดยนำรายได้ไปก่อตั้ง กองทุนมูลนิธิสมเด็จพระสุริโยทัย เพื่อนำดอกผลของกองทุนไปใช้ในการทำนุบำรุงรักษาพระเจดีย์ ศรีสุริโยทัย